Pipop Boosarakumwadi
ผลงานศิลปะโดย พิภพ บุษราคัมวดี

เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและงาน

ในปี พ.ศ.2524 ขณะกำลังศึกษาศิลปะระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร พิภพ บุษราคัมวดีได้ค้นคว้าหาข้อมูล และสัมภาษณ์อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับท่าน เพื่อเขียนบทความเรื่อง “เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและงาน”

ในเวลาต่อมา ทาง “มูลนิธิแม็กไซไซ” ทราบว่าพิภพ บุษราคัมวดี ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและงานของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ จึงเดินทางมาจากประเทศฟิลิปปินส์ พร้อมมอบค่าใช้จ่ายในการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อยื่นประกอบการพิจารณารางวัลแม็กไซไซ

พ.ศ.2526 อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้รับรางวัล “แม็กไซไซ” สาขาบริการสาธารณะ

จากนั้น คณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำบทความไปจัดพิมพ์หนังสือ “เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและงาน” ในปี พ.ศ.2527

ที่น่าเศร้าใจก็คือ สิบปีต่อมา บทความเรื่อง “ประวัติและการศึกษาของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์” โดยพิภพ บุษราคัมวดี ได้ตีพิมพ์ในหนังสือ “เฟื้อ หริพิทักษ์” อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่าน เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2537 จัดพิมพ์โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยเสด็จพระราชกุศล

26 ปีหลังจากที่มีการเขียนหนังสือ “เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและงาน” ได้มีการจัดทำหนังสือ “100 ปี เฟื้อ หริพิทักษ์ ชีวิตและงาน” โดยพิภพ บุษราคัมวดี ครั้งนี้เป็นการพิมพ์ 2 ภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ หนังสือหนา 306 หน้า โดย หอศิลป์ วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ.2553 พร้อมทั้งจัดนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.- 6 พ.ย 2553 ที่หอศิลป์ วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร และหมุนเวียนไปทั่วประเทศรวม 10 แห่ง 

ในปีเดียวกัน ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือ “100 ปี ชาตกาล เฟื้อ หริพิทักษ์” โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากนี้ ยังมีผู้นำบทความและภาพจากหนังสือ “เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและงาน” ไปตีพิมพ์ โดยไม่มีการขออนุญาต หรือให้เครดิตแต่อย่างใด

“เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและงาน”
พิภพ บุษราคัมวดี เรียบเรียง
สน สีมาตรัง บรรณาธิการ
วิยะดา ทองมิตร ผู้ช่วยบรรณาธิการ

ภาพ : บุพการี หรือคุณยายของฉัน หรือคุณยายกับอีสี (แมว), ๒๔๘๑
เทคนิคสีน้ำมัน, ขนาด ๓๙ x ๔๙ ซ.ม.

เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและงาน
พิภพ บุษราคัมวดี เรียบเรียง

บทที่ ๑ ประวัติและการศึกษาของอาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์

            อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ชื่อสกุลเดิมทองอยู่เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๒ เดือนเมษายน ปีจอ พ.ศ.๒๔๕๓ เวลาก่อนเพล บนแพ ณ ปากคลองราษฎร์บูรณะ หน้าพระอุโบสถวัดราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี บิดาชื่อ นายเปล่ง มารดาชื่อ นางเก็บ

            นายเปล่ง รับราชการอยู่กับพระยาอนุศาสน์จิตรกรในตำแหน่งมหาดเล็กกรมช่าง ท่านชอบเขียนภาพเหมือนจากแบบคนจริงและยังชอบแสดงละครด้วย อันเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดมาก ท่านเคยได้รับพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์เป็นภาพพระองค์ประทับนั่งทรงพระมาลาใบลาน กำลังพิจารณาโบราณวัตถุ ใต้ภาพมีลายพระราชหัตถเลขาว่า “ให้นายเปล่งมหาดเล็กกรมช่างไว้เป็นที่ระลึก” ว่ากันว่า ท่านตามเสด็จไปเมืองเหนือแล้วได้รับบาดเจ็บเพราะตกม้า ในที่สุดก็ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุได้ราว ๓๐ ปี ก่อนที่อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ จะเกิดเพียง ๖ เดือนเท่านั้น

            และต่อมาเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ มารดาก็ถึงแก่กรรมไปอีกคนหนึ่ง ท่านจึงอยู่ในความอุปการะของคุณยายทับทิม ตั้งแต่นั้นมา โดยอาศัยอยู่บริเวณหลังวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ

การศึกษาเบื้องต้น

            อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เริ่มเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนประถมวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ ศึกษาอยู่ ๓ ปี สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓  เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ ต่อมาเข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ เป็นเวลา ๓ ปี จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ๒ ปี สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ และกลับไปเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธอีก ๑ ปี จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เมื่อ พ.ศ.๒๕๖๙ ท่านเป็นคนรักการศึกษา ทำคะแนนได้ดี มักสอบได้ที่หนึ่งเสมอ

            เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ แล้ว ท่านได้เข้าทำงานเป็นเสมียนรถไฟที่จังหวัดพิษณุโลก แต่ทำได้เพียง ๒ วันเท่านั้นก็ลาออก เนื่องจากรู้สึกว่าอาชีพนี้ไม่ค่อยเหมาะกับตัวท่าน และได้กลับมากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อ

เริ่มศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง

            ในตอนแรกท่านคิดจะศึกษาทางการเกษตรหรือการพาณิชย์ แต่ด้วยนิสัยที่ชอบเขียนภาพแต่เล็ก ท่านจึงตัดสินใจศึกษาที่โรงเรียนเพาะช่างแผนกฝึกหัดครู ในปี พ.ศ.๒๔๗๒

            โรงเรียนเพาะช่างในขณะนั้น มีพระยาอนุศาสตร์พาณิชยการเป็นผู้อำนวยการ แบ่งออกเป็น ๒ แผนก คือ แผนกฝึกหัดครู และแผนกช่าง แผนกฝึกหัดครูมีหลักสูตร ๔ ปี คือ เรียนชั้นเตรียมปีที่ ๑ และเรียนเข้าชั้นอีก ๓ ปี ทำการเรียนวิชาวาดเส้น วาดหุ่น ป้ายพู่กัน ภาพร่าง ลายเครือเถาว์ วาดกะส่วน และวิชาครู มีอาจารย์ผู้ควรออกนามไว้ในที่นี้ คือ หลวงวิบูลย์ศิลปการ, ขุนจิตรการชำนิ, ครูใหญ่ น้ำทิพย์, ขุนหลวงชัย, ขุนศรี, ขุนอภิสิทธิ์ (ขุนดำ), ไวซาเซ และเอส มิกกี

            อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่าง ๕ ปี แต่ไม่สำเร็จการศึกษา ทั้งนี้เพราะท่านมีความคิดขัดแย้งกับหลักสูตรของทางโรงเรียน เนื่องจากว่าแนวการสอนของโรงเรียนเพาะช่างเวลานั้น เน้นให้เขียนอย่างเรียบร้อย เป็นแบบแผน กล่าวคือ “การเขียนภาพสติลไลฟ์ด้วยสีน้ำมันมักจะเขียนอย่างละเอียดลออ อย่างเช่น ผลเงาะนั้นก็แทบจะเก็บขนของมันทุกเส้นทีเดียว การระบายสีก็ใช้วิธีระบายซ้ำทับกันเป็นชั้นๆ ทำให้ดูสีสกปรก” และ “เป็นวิธีแบบช่างฝีมือแท้ๆ มิใช่งานศิลปะเลยแม้แต่น้อย” ซึ่งขัดต่อความรู้สึกของอาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เป็นอย่างยิ่ง

            แต่อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาชั้นปีที่ ๔ ท่านได้ครูดีคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้วางพื้นฐานทางศิลปะแก่ท่าน ท่านผู้นี้คือ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง  ไตรปิ่น) ซึ่งมีวิธีการสอนแตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่นๆ มาก ในขณะที่อาจารย์ท่านอื่นสอนให้เขียนภาพอย่างเรียบร้อย และละเอียดลออ ท่านกลับใช้วิธี“บีบสีที่หลอดอย่างน่ากลัวและป้ายลงไปหนาๆ” พร้อมกันนี้ อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ยังได้กล่าวถึงครูผู้นี้ของท่านอีกว่า “ครูเป็นคนที่มีฝีมือยิ่งนัก ท่านเน้นให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างเส้นแข็งๆ และเส้นอิสระ ท่านกล่าวว่า ผู้ที่เขียนประคองเส้น มุ่งจะเอาดีทางฝีมือมักจะเขียนภาพดูแข็งราวกับสังกะสี (คือแม้เขียนภาพก็ดูแข็งคล้ายสังกะสี) จิตรกรที่ดีจะต้องคำนึงถึงชีวิตต่างๆ ในการเขียนนั้น เมื่อจะเขียนภาพผลไม้ก็ควรเขียนให้ดูรู้สึกว่ามันอ่อนนุ่ม จูงใจให้เห็นถึงเนื้อผลไม้อันน่ากินข้างในนั้น จะเขียนผ้าควรจะเขียนแล้วดูเหมือนผ้ามิใช่อย่างอื่น ไม่ว่าจะเขียนอะไรเราจะต้องสอดใส่ชีวิตของสิ่งนั้นๆ ลงไปด้วยเสมอ”๑๐ นอกจากนั้นท่านยัง “ตาแหลม วิจารณ์ศิลปะเก่งมาก สมัยที่เรียนอยู่ยังโรงเรียนเพาะช่างนั้น ครูเคยเอาผลงานของวิสเล่อร์ (Whistler) และซาเย้นท์ (Sargent) มาให้ดูและวิจารณ์ให้เห็นข้อแตกต่างกัน” นับได้ว่าแนวความคิดของท่านเป็นแบบศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism)

            ปรากฏว่าในเวลานั้น ไม่มีใครยอมรับท่านเลย มีเพียงอาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เท่านั้นที่เห็นความสามารถและเข้าถึงท่าน๑๑

            ในการศึกษาชั้นปีที่ ๔ อันเป็นปีสุดท้าย อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ก็เกิดความคิดแผลงๆ โดยการไม่ยอมเขียนภาพตามหลักสูตรที่ทางโรงเรียนได้วางเอาไว้ ด้วยเห็นว่าภาพที่ออกมานั้นจืดชืด ไม่มีชีวิตชีวา ท่านจึงเริ่มเขียนภาพตามใจปรารถนา ผลสุดท้ายก็เลยสอบตกทั้งๆ ที่สอบวิชาครูและวิชาอื่นๆ ได้หมด๑๒ และแม้ว่าจะพยายามสอบอีกปีก็ไม่ได้เสียแล้ว ท่านกล่าวว่า “ที่เพาะช่างขีดเส้นเอาไว้อย่างนั้น แต่เรากระโจนออกไปเลย เพราะเราเห็นความจริง”๑๓

            หลวงวิบูลย์ศิลปการ อาจารย์ผู้ปกครองถึงกับเรียกตัวไปพบแล้วกล่าวว่า

            “เธอมันโดดข้ามชั้นอย่างนี้ จะไปเอาสุดยอดได้ที่ไหนกัน ต้องทำงานอย่างละเอียดไปก่อนซี แล้วค่อยหยาบทีหลัง”

            อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ตอบว่า “ผมว่าต้องหยาบก่อน แล้วจึงค่อยละเอียดซีครับ”๑๔

            ที่สุด ท่านก็กล่าวออกมาว่า “เรามันดีเกินไป”๑๕

            ด้วยความศรัทธาในตัวอาจารย์ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ จึงลาออกจากโรงเรียนเพาะช่าง และเข้าศึกษาเป็นการพิเศษกับท่านแทน อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ตื่นแต่เช้าตรู่ เดินออกจากบ้านพักที่ตรอกโรงเลี้ยงเด็กมุ่งตรงไปยังซอยนานา ถนนสุขุมวิท ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นท้องทุ่งกว้างสุดตา ท่านเขียนภาพดวงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณด้วยความเพลิดเพลิน เสร็จแล้วก็นำมาให้ครูดูด้วยความภูมิใจ แต่ครูกลับวิจารณ์ว่า ยังขาดบรรยากาศ ท่านถึงกับงงด้วยความไม่เข้าใจ เดินออกจากห้องคอตกเลยทีเดียว๑๖

            อีกหลายปีต่อมา ท่านจึงได้เข้าใจในสิ่งที่ครูพยายามจะอธิบายให้ท่านฟัง

            นอกจากขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิตแล้ว บุคคลอีกท่านหนึ่งซึ่งอาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เคารพนับถือมาก และมักไปขอความรู้ทางศิลปะอยู่ประจำ คือหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์  กฤดากร สถาปนิกผู้จบการศึกษามาจากยุโรป และเป็นผู้ที่อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ได้ไปขอต้นฉบับเกี่ยวกับศิลปะที่ได้เขียนไว้ มาให้คุณเกียว  วิบูลย์ศิลปการ จัดพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงวิบูลย์ศิลปการ (บุ้นเจี่ย  ลียะวณิช) อาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๔๗๗ โดยให้ชื่อหนังสือนั้นว่า “คำแนะนำนักเรียนช่างศิลปอนุสรณ์แด่อำมาตย์ตรีหลวงวิบูลย์ศิลปการ” และในตอนหนึ่งของคำนำท่านได้กล่าวถึงอาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ว่า “…นายเฟื้อ  ทองอยู่ นักเรียนช่างศิลป เป็นผู้ที่ชอบมาสนทนาเรื่องศิลปะต่างๆ กับข้าพเจ้าอยู่บ้าง ได้มาขอคำแนะนำของข้าพเจ้าในนามของเจ้าภาพว่า มีประสงค์ใคร่จัดการพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวด้วยเรื่องศิลปะขึ้นฉบับหนึ่ง เป็นศิลปะพลีที่ระลึกแก่อำมาตย์หลวงวิบูลย์ศิลปการ (บุ้นเจี่ย  ลียะวณิช) อาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว ความประสงค์อันนี้ข้าพเจ้าขอโมทนาด้วยไมตรีจิตต์ อันชื่นชมเห็นสมควร…”๑๗

            จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านศิลปะ และชื่นชอบในทัศนคติของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์  กฤดากร ถึงขนาดขอต้นฉบับของท่านไปจัดพิมพ์ ย่อมแสดงให้เห็นว่า อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ คงได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของท่านบ้างไม่มากก็น้อย

            และในระหว่างนั้น ท่านได้ส่งผลงานเข้าร่วมแสดงในอาร์ตคลับ (ART CLUB) ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร๑๘ จัดขึ้น เสด็จในกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ เป็นผู้หนึ่งที่ได้มาชมและเกิดความประทับใจในภาพ “ท้องนา” ของอาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เสด็จในกรมฯ พระองค์นั้นได้รับสั่งให้คุณพระเสนอพจน์ภาค อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่างนำตัวไปเข้าเฝ้า แล้วให้เข้าทำงานในบริษัท “โคลทนีออน” ที่ท่านริเริ่มขึ้นเป็นรายแรก มีมิสเตอร์เชียง ช่างจากเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้ออกแบบอยู่ก่อน ทำงานออกแบบนีออนได้ไม่นานก็ย้ายไปทำงานเป็นช่างฝีมือที่ “ห้องศิลป์” ของคุณหลวงนฤมิตรเลขการ สุดท้ายไปอยู่กับครูเปรื่อง  แสงเถกิง ที่ “คณะช่าง”

ศึกษากับศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี

            ปัญหาและข้อสงสัยต่างๆ ทางด้านศิลปะที่อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ยังไม่เข้าใจ ล้วนแต่มาเห็นแจ้งเมื่อได้พบกับศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี

            พ.ศ.๒๔๗๖ แช่ม  แดงชมภู นักเรียนโรงเรียนเพาะช่างชักชวนจงกล  กำจัดโรค เพื่อนนักเรียนโรงเรียนเดียวกันไปพบศาสตราจารย์คอร์ราโด  เฟโรจี๑๙ (CORRADO FEROCI) ที่กรมศิลปากร โดยบอกว่า “ไปดูสิ อาจารย์เฟโรจี มีอะไรดีๆ หลายอย่าง” เมื่อไปถึงก็เกิดความเลื่อมใสในความรู้ความสามารถของท่าน ชักชวนเพื่อนร่วมโรงเรียนมาฝากตัวเป็นศิษย์ขอศึกษาในโรงเรียนประณีตศิลปกรรม๒๐ ที่จะตั้งขึ้น ณ กรมศิลปากร ภายใต้ความรับผิดชอบของศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี

            โรงเรียนแห่งนี้ตั้งขึ้นโดยคำนึงถึงความต้องการของยุคสมัย ดังจะเห็นได้จากบทความของศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี ชื่อ “มหาวิทยาลัยศิลปากร” ในหนังสือ “๒๔๙๖ คณะปฏิมากรรมและจิตรกรรม ที่ระลึกในงานแสดงศิลปกรรมประจำปี แถลงการณ์ศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร” มีเนื้อความว่า

            “…เมื่อประมาณ ๓๕ ปีมาแล้ว กิจการงานในด้านที่ต้องอาศัยพุทธิปัญญาของเมืองไทยส่วนมากจำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญทางต่างประเทศอยู่ แต่หลังจากที่อนุชนไทยหลายคนได้ถูกส่งไปศึกษาในวิทยาการแขนงต่างๆ อาทิเช่น การกฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรมและวรรณคดี เมื่อได้กลับมายังประเทศไทยของตนแล้ว ก็ได้เข้าทำหน้าที่ตำแหน่งอาชีพแทนผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเหล่านั้น

            จะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีนักเรียนไทยถูกส่งไปศึกษาในวิชาศิลปะแขนงจิตรกรรมและปฏิมากรรมเลย ทั้งๆ ที่เมืองไทยยังจำต้องอาศัยพึ่งพาปฏิมากรและจิตรกรชาวต่างประเทศเป็นเวลานานมาแล้ว และศิลปินต่างประเทศเหล่านั้นก็ไม่ได้คิดที่จะฝึกฝนศิลปะแก่อนุชนชาวไทยขึ้นบ้างเลย

            เมื่อข้าพเจ้ามาถึงเมืองไทยฉันก็ได้ฝึกฝนเด็กหนุ่มไทยบางคนซึ่งได้เล็งเห็นว่าเขาพอจะมีอุปนิสัยในทางศิลปะอยู่บ้าง ด้วยการส่งเสริมจนเกิดความชำนาญและพร้อมด้วยความร่วมมือจากคุณพระสาโรชรัตนนิมมานก์ ข้าพเจ้าก็ได้ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้นภายในกรมศิลปากร โดยวางหลักสูตรการสอนทุกวิชาดังเช่นอะคาเดมีในยุโรปและอเมริกา…”

            “เด็กหนุ่มไทยบางคน” ที่ศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี ทำการฝึกสอนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๖ มีอยู่จำนวน ๑๐ คน คือ แช่ม  แดงชมภู พิมาน  มูลประมุข สองท่านนี้ได้ฝึกฝนกับศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี อยู่ก่อนแล้ว อนุจิตต์ แสงเดือน จงกล  กำจัดโรค น.ส.พวงทอง  ไกรหงษ์ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์  กฤดากร นักศึกษาโรงเรียนเพาะช่างแผนกฝึกหัดครู สิทธิเดช  แสงหิรัญ สวัสดิ์  ชื่นมานา แช่ม  ขาวมีชื่อ นักศึกษาโรงเรียนเพาะช่างแผนกช่าง และอาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์

            โรงเรียนประณีตศิลปกรรมมีหลักสูตร 4 ปี ทำการสอนตามมาตรฐานเดียวกับโรงเรียนศิลปะในยุโรป มีวิชาดังต่อไปนี้ คือ PROJECTION, LIGHT AND SHADE, PERSPECTIVE, LANDSCAPE, ANATOMY, HISTORY OF ART, COMPOSITION AND DESIGN, CRITIC ART, AESTHETIC, ORNAMENT, STYLE OF ART, THEORY OF COLOUR และ THAI ARCHITECTURE ในส่วนของวิชาศิลปะปฏิบัติแบ่งออกเป็น ๒ สาขา คือ สาขาประติมากรรม แบ่งเป็นการปั้นนูนต่ำ, ปั้นนูนสูง และปั้นลอยตัว สาขาจิตรกรรมแบ่งเป็น เส้นดินสอ, เส้นถ่าน, การระบายสีน้ำ, สีน้ำมัน และสีฝุ่น๒๑

            สำหรับอาจารย์ผู้ทำการสอนนั้น นอกจากศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี ซึ่งทำการสอนวิชาประติมากรรมและเทคนิคการช่างแบบยุโรปทุกประเภทแล้ว ยังมีพระสาโรชรัตนนิมมานก์ หัวหน้ากองสถาปัตยกรรมกรมศิลปากร ซึ่งสำเร็จวิชาสถาปัตยกรรมจากประเทศอังกฤษ ทำการสอนวิชาสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ศิลป์ หลวงวิจิตรวาทการ (พ.ศ.๒๔๔๑-๒๕๐๕) อธิบดีกรมศิลปากร (ระหว่าง พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๘๕) ทำการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย พระพรหมพิจิตร๒๒ (พ.ศ.๒๔๓๓-๒๕๐๘) ทำการสอนวิชาสถาปัตยกรรมไทย พระเทวาภินิมมิต๒๓ (พ.ศ.๒๔๓๑-๒๔๙๐) ทำการสอนวิชาศิลปะไทย และพระสรลักษณ์ลิขิต๒๔ (พ.ศ.๒๔๘๑-๒๕๐๑) ทำการสอนวิชาจิตรกรรม

            อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ และ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์  กฤดากร๒๕ ถูกกำหนดให้ไปเรียนวิชาจิตรกรรมกับพระสรลักษณ์ลิขิต ส่วนคนอื่นเรียนประติมากรรมกับศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี และถึงแม้ว่าท่านจะเป็นผู้ที่เคารพต่อกฎและไม่เคยร่ำร้องอะไร แต่ก็เป็นผู้ที่ไม่ชอบอยู่ในกรอบข้อบังคับของสถานศึกษานัก๒๖ ดังนั้น เมื่อท่านศึกษาอยู่กับพระสรลักษณ์ลิขิตได้เพียงปีเดียว ก็ทนไม่ไหว ขอลาออกจากการเป็นนักศึกษาโรงเรียนประณีตศิลปกรรมแล้วขอเรียนเป็นการพิเศษกับศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี แทน

            สาเหตุที่อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ไม่ยอมศึกษากับพระสรลักษณ์ลิขิตนั้น ไม่ใช่ว่าพระสรลักษณ์ลิขิตไม่มีความสามารถ ทั้งนี้เพราะพระสรลักษณ์ลิขิตนับเป็นช่างเขียนชาวไทยที่มีฝีมือสูงสุดคนหนึ่งในยุคของท่าน ทั้งยังเป็นจิตรกรเพียงหนึ่งในสองท่านที่มีโอกาสไปศึกษาการเขียนภาพจากทวีปยุโรป (อีกท่านหนึ่งนั้น คือ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต) พร้อมกับเคยได้รับพระราชทานเหรียญศิลปมาลาอีกด้วย และเมื่ออาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ กล่าวถึงท่าน จะยกย่องชมเชยอยู่เสมอ แต่เนื่องจากท่านเห็นว่าแนวการสอนของพระสรลักษณ์ลิขิต ที่สอนแบบมาตรฐานโบราณนั้นช่างน่าเบื่อหน่าย ไม่ตรงกับนิสัยของท่าน ในเรื่องนี้อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “…ท่านสอนแบบโรงเรียนเพาะช่าง ผมเลยไม่รู่ว่าจะเรียนไปทำไม เพราะมันเป็นแบบเก่า จริงๆ แล้ว เราก็อยากจะให้เหมือนชาวบ้านเขา ไม่อยากจะแปลกจากเขาหรอก หลักสูตรมันมีขอบเขต ขอบเขตมีกรอบของมันอยู่…”๒๗

            ปรากฏว่าศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี เข้าใจและพึงพอใจในการรักอิสระและความเป็นตัวของตัวเอง ทั้งยังชื่นชมในฝีมือการวาดภาพด้วยเส้นอันอ่อนไหว ด้วยอารมณ์และความแม่นยำอย่างหาตัวจับได้ยากของอาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ อีกด้วย และสิ่งนี้เองที่ทำให้ศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี มั่นใจว่าสักวันหนึ่งเด็กหนุ่มผู้นี้จะกลายเป็นศิลปินที่แท้จริงขึ้นมา๒๘

            และในช่วงเวลานี้เองที่อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ได้ทำการฝึกฝนทดลองเทคนิคของงานจิตรกรรมหลายประเภท เพื่อค้นหาว่าเทคนิคใดจะเหมาะกับธรรมชาติของตน แบบศิลปะในผลงานของท่านในช่วงนี้จัดเข้าอยู่ในลัทธิ “อิมเพรสชันนิสม์” (IMPRESSIONISM) โดยเฉพาะผลงานที่ท่านได้สร้างขึ้นเมื่อไปเขียนภาพที่จังหวัดเชียงใหม่๒๙

            และช่วงเวลานี้เช่นกันที่ท่านได้สมรสกับ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์  กฤดากร มีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือ นายทำนุ  หริพิทักษ์ ปัจจุบันเป็นช่างเขียนอิสระตั้งใจจะดำเนินวิชาช่างศิลปะตามบิดา

            เมื่อนักศึกษาโรงเรียนประณีตศิลปกรรมรุ่นแรกสำเร็จการศึกษา เมื่อปีพ.ศ.๒๔๘๐ ประเทศไทยก็มีศิลปินกลุ่มแรกที่สามารถเข้าแทนที่ศิลปินยุโรปซึ่งเข้ามาประกอบอาชีพ๓๐ และสนองตอบความต้องการของกระทรวง ทบวง กรม ขณะนั้นหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร มีนโยบายสนับสนุนศิลปิน ได้ติดต่ออาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ให้เข้าทำงาน แต่ท่านปฏิเสธ เนื่องจากมีความคิดว่าถ้าเข้ากรมศิลปากรก็จะต้องทำงานตามบังคับบัญชา ไม่สามารถสร้างสรรค์ศิลปะตามอุดมคติที่ได้ตั้งเอาไว้ ท่านตัดสินใจแล้วว่าอดตายก็ต้องยอม

            ราวปีพ.ศ.๒๔๘๑ ศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี ได้แนะนำให้รัฐบาลจัดงานประกวดจิตรกรรมและประติมากรรมส่งเสริมหลักหกประการ (หลักเอกราช, หลักความสงบภายใน, หลักเศรษฐกิจ, หลักสิทธิเสมอภาค, หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา) และความสำคัญของการมีรัฐธรรมนูญในงานฉลองรัฐธรรมนูญ อันเป็นเหตุให้เกิดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นในทุกวันนี้ ครั้งนั้น อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ก็ได้ส่งผลงานเข้าร่วมแสดงด้วย

ไปแสวงหาความรู้ที่ประเทศอินเดีย

            เดิมที อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ตั้งใจจะเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอิตาลี แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งนี้เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ประกอบกับเมื่อครั้งที่ท่านศึกษากับศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี  ได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ของประเทศอินเดีย ทำให้เกิดความหลงใหลและใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่ง ท่านจะต้องเดินทางไปประเทศอินเดียให้ได้ ท่านจึงเลือกเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอินเดียแทนด้วยทุนของภรรยา

            ท่านออกเดินทางจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ผ่านเข้าไปยังเมืองมะละแหม่ง (อยู่ใกล้ปากแม่น้ำสาละวิน ภาคใต้ของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมพม่า) จากนั้นก็เดินทางด้วยรถไฟไปเมืองย่างกุ้ง (เมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมพม่า) แล้วลงเรือไปยังเมืองกัลกัตตา พบกับ ดร.กาลี  ทัศนาค ผู้ซึ่งท่านสวามีสัตยานันทบุรีจากกรุงเทพฯ ได้กรุณาแนะนำฝากฝังพักอยู่ที่มหาโพธิสมาคมและเดินทางอีกประมาณ ๙๓ ไมล์ ตรงไปยังตำบลพลปุร (BOLPUR) อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน๓๑ (VISVA BHARATI SANTINI KATAN)

            อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เข้าเรียนแผนกจิตรกรรมในฐานะนักศึกษาพิเศษ โดยพำนักอยู่ ณ ตึกจีนภวน๓๒ ภายใต้ความอำนวยการของท่านนันทะลาลโพส๓๓ (NANTALAL BOS) ศิลปินใหญ่ของอินเดีย ระยะแรกท่านนันทะลาลโพส ไม่ค่อยเชื่อใจในความสามารถสักเท่าใด แต่เนื่องจากใบรับรองของศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี ทำให้ท่านจำต้องรับเอาไว้ ต่อเมื่อศาสตราจารย์ปิโนต์ มาคัดเลือกผลงานของท่านจำนวน ๒ ชิ้น ไปแสดงในนิทรรศการผลงานของนักศึกษาและท่านเห็นเข้า จึงยอมรับเป็นศิษย์อย่างสนิทใจ เพื่อนนักศึกษาที่ไม่เคยมาสมาคมด้วยก็พลอยเข้ามาทำความสนิทสนมเป็นอย่างดี เป็นที่รักใคร่นับถือของท่านนันทะลาลโพส คณาจารย์และเพื่อนนักศึกษา ท่านเองถึงกับกล่าวว่า “…ผมอยู่ไม่นานเท่าไร แต่ก็เหมือนกับว่าอยู่นานเหลือเกิน คล้ายๆ กับเป็นครูบาอาจารย์กันมานมนาน พูดจานิดๆ หน่อยๆ ก็เข้าใจกัน…”๓๔

            ในแต่ละวัน ถ้าท่านไม่เขียนภาพอยู่ในห้อง ก็จะออกไปเขียนภาพในป่าละเมาะที่อยู่ข้างๆ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของท่านรพินทรนาถ  ฐากุร ซึ่งต้องการที่จะจัดระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ให้คล้ายคลึงกับการศึกษาแบบคุรุกุลของอินเดียโบราณ ดังนั้น มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงมีสภาพใกล้ชิดกับธรรมชาติมาก เมื่อทำการศึกษาก็ศึกษากันในสวนหรือใต้ร่มไม้ กลิ่นอายของอารยธรรมสมัยใหม่แทบจะไม่มีเลย นอกจากสภาพแวดล้อมดังกล่าวแล้ว นักศึกษายังมีโอกาสได้ชมผลงานศิลปกรรมชั้นเยี่ยมของโลกที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดเวลา สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือการโน้มน้าวใจมิให้ชาวอินเดียละทิ้งลักษณะประจำชาติ ด้วยการจัดส่งคนที่มีความรู้ไปทำการคัดลอกภาพเขียนที่มีคุณค่าตามแหล่งต่างๆ ของประเทศมาติดตั้งไว้เพื่อศึกษาอย่างใกล้ชิด๓๕ ท่ามกลางแหล่งพุทธิปัญญานี้เอง ความหลงใหลใฝ่ฝันของท่านที่มีต่อศิลปะก็ยิ่งทวีความแรงกล้าขึ้นทุกที ท่านบูชางานศิลปะโบราณชั้นครูของอินเดียอย่างสูง และนับเป็นครั้งแรกที่ท่านได้ตระหนักถึงคุณค่าในศิลปะโบราณอันเป็นมรดกตกทอดของแต่ละชาติ ดังนั้น ความคิดที่จะเรียนรู้ศิลปะไทยอย่างจริงจังจึงเกิดขึ้นและได้บังเกิดผลขึ้นเมื่อท่านกลับมาประเทศไทยแล้ว โดยที่ท่านได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจและสติปัญญาทำการอนุรักษ์ศิลปกรรมในเวลาต่อมา

            ระหว่างที่ท่านกำลังขะมักเขม้นต่อการศึกษาอยู่นั้น ก็ปรากฏข่าวร้ายจากกรุงเทพฯ ว่า คุณยายที่เป็นญาติสนิทเพียงคนเดียว และเป็นผู้อุปถัมภ์เลี้ยงดูท่านมาแต่เล็กได้ถึงแก่กรรมเสียแล้วเพียง ๓ เดือนเมื่อท่านได้จากมา ซ้ำร้ายภรรยาผู้เป็นที่รักก็ประสบเคราะห์กรรมเป็นโรคประสาทไป ข่าวนี้ทำให้ท่านเกิดความเสียใจเป็นที่สุด ท่านเดินกรำฝนไปตามถนนอย่างไม่รู้สึกตัว ผ่านหมู่บ้านเข้าไปยังป่าละเมาะ ขณะนั้นรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งให้อยู่เพียงคนเดียวในโลก หมดสิ้นแล้วทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีที่พึ่งอีกแล้ว ท่านเงยหน้าขึ้นบนท้องฟ้าอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียให้ช่วยคุ้มครอง ทันใดนั้นก็เกิดปาฏิหาริย์ฝนฟ้าที่อึงคะนึงสนั่นหวั่นไหวกันหยุดเงียบกริบในปัจจุบันทันด่วน ฟ้าโปร่งใสเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นับแต่นั้นมาท่านก็เริ่มเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าของอินเดีย และเริ่มสนใจศึกษาลัทธิศาสนาพราหมณ์๓๖

            ความทุกข์ที่ท่านได้รับยังไม่หมดสิ้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้แผ่ขยายมาทางด้านทวีปเอเชีย รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ร่วมลงนามสัญญาเข้าสู่ “วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” กับญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ และประกาศสงครามกับอังกฤษ อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ และคนไทยอื่นๆ ที่อยู่ในประเทศอินเดียจึงถูกจับกุมอยู่ในค่ายกักกันเชลยศึก

            ท่านถูกจับตัวส่งไปยังเมืองเดลลีโดยทางรถไฟ แล้วถูกกักกันอยู่ในป้อมโบราณกว้างใหญ่ชื่อ “ปุราณากีลา” (PURANA GUILA) อยู่ได้สักพักก็ถูกย้ายไปคุมขังต่อที่ทะเลทรายราชปุตานา (DEOLI) ที่ค่ายกักกันแห่งนี้เป็นที่อยู่ของเชลยเยอรมัน, อิตาลี, ญี่ปุ่น และไทย เชลยเยอรมันและอิตาลีจำนวนหมื่นคนถูกจับกุมมาจากยุโรปและอาฟริกา เชลยญี่ปุ่นเป็นพลเรือนมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ราวสองหมื่นคนถูกจับกุมมาจากพม่า อินเดีย สิงคโปร์ และมลายู ส่วนคนไทยมีอยู่ประมาณ ๕-๖ คน เชลยพลเรือนและเชลยทหารถูกกักขังใกล้ๆ กัน โดยมีลวดหนามเดินกระแสไฟฟ้ากั้นกลาง กิจวัตรประจำวันของเชลยศึกที่นี่ก็คือ ออกไปขุดคูน้ำโสโครกหรือทำถนนท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายมาก เพราะในทะเลทรายหน้าร้อนร้อนจัด หน้าหนาวหนาวจัด นอกจากนั้นอาหารการกินก็ขาดแคลน ทั้งขณะนั้นประเทศอินเดียก็เกิดทุพภิกขภัยอย่างใหญ่หลวง สภาพภายนอกค่ายกักกันนั้นแสนลำบาก แต่ภายในค่ายกักกันนั้นยิ่งลำบากกว่าหลายเท่านัก ถูกกักขังอยู่ภายในค่ายกักกันได้เพียงปีเศษ อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ก็ล้มเจ็บด้วยโรคมาเลเรีย, โรคโลหิตจาง และโรคบิด ต้องเข้าโรงพยาบาลเกือบทุกเดือนและเป็นเรื้อรังอยู่ราวสองปี

            แม้จะได้รับความทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส อิสรภาพทางกายถูกจำกัด แต่ทางใจนั้นไม่มีใครสามารถบังคับได้ ทางออกของท่านก็คือใฝ่ใจในศาสนาและศิลปะ ท่านตัดสินใจนำเงินที่เหลืออยู่หกร้อยรูปีสั่งหนังสือเกี่ยวกับวิชา “อัธยาตมวิทยา”๓๗ (SPIRITUALISM) จากสำนักของท่านสวามีศิวานันทะ แห่งอาศรมฤาษีเกศ ณ ภูเขาหิมาลัย ป่าหิมพานต์๓๘ ความรู้ที่ท่านได้รับเป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตยามทุกข์ยาก ท่านได้รู้จุดมุ่งหมายที่แท้จริงแห่งศาสนา ความจริงที่ท่านได้ค้นพบก็คือ มนุษย์เราจำเป็นต้องมีที่พึ่ง ถ้าขาดที่พึ่งแล้วลำบาก ท่านใช้ศาสนาเป็นแนวทางให้เข้าใจชีวิต

            นอกจากจะสนใจในด้านศาสนา ท่านก็ยังไม่ละทิ้งการสร้างสรรค์ศิลปะด้วยสีที่เหลืออยู่ไม่กี่หลอด และกระดาษแผ่นเล็ก ท่านได้เขียนภาพชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลรอบข้าง จนภาพองค์ประกอบ “ค่ายกักกันชาวญี่ปุ่นในป้อมโบราณ” และภาพ “สวนดอกไม้” ของท่านได้รับรางวัลที่หนึ่งและที่สองในการประกวด ซึ่งจัดให้มีขึ้นโดยคณะศิลปินแห่งค่ายกักกัน

สิ้นเคราะห์

            วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม แต่เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ทหารญี่ปุ่นอยู่ในประเทศไทย คนไทยก็มิได้ยินยอมหรือคล้อยตาม กลับก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ภายใต้ชื่อว่า “ขบวนการเสรีไทย” ประกาศไม่ยอมรับรู้การกระทำของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และขอเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร ดังนั้นรัฐบาลไทยซึ่งเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาก็ได้กลายเป็นรัฐบาลที่ต่อต้านญี่ปุ่นไป และสามารถกอบกู้เอกราชและรักษาฐานะของประเทศชาติเอาไว้ได้

            รัฐบาลอังกฤษจึงย้ายอาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ จากค่ายกักกันที่ DEOLI ด้วยรถไฟลงเรือเดินทะเลที่บอมเบย์ กักกันต่อที่ประเทศสิงคโปร์ อยู่ที่นั่นหลายเดือนก็ถูกปล่อยตัวแล้วเดินทางต่อไปขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อปีพ.ศ.๒๔๘๙

            ท่านเดินทางกลับประเทศไทยด้วยความว้าเหว่ มีเพียงกระเป๋าติดตัวสองใบและเงินอีกราวสามสิบบาท เมื่อไปถึงบ้านก็พบว่าถูกทำลายจนหมดสิ้น ภรรยาและลูกได้อพยพไปอยู่เมืองพระตะบอง เดินทางไปหานายแช่ม  ขาวมีชื่อ เพื่อนนักศึกษาศิลปะที่อาศัยอยู่หน้าไปรษณีย์กลางก็ปรากฏว่าถึงแก่กรรมเสียแล้ว ไปหาเพื่อนที่สามย่านก็ไม่พบ ในที่สุดก็ได้ไปอาศัยนอนกับเพื่อนที่ธนบุรี

            และในช่วงนี้ท่านได้สมรสใหม่อีกครั้งหนึ่งกับ คุณสมถวิล  หริพิทักษ์ แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน

งานระยะแรกเมื่อกลับประเทศไทย

            กลับมาเมืองไทยไม่นาน ท่านก็ได้รับคัดเลือกจากศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี ให้เขียนภาพในช่องคูหาพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตร๓๙ โดยวาดเป็นภาพเจดีย์ที่สำคัญๆ ในประเทศไทย

            คณะศิลปินผู้เขียนภาพดังกล่าว มีหลายท่านด้วยกัน โดยแยกกันเขียนคนละช่อง ดังนี้ คือ พระปฐมเจดีย์ อาจารย์ประสงค์  ปัทมานุช, พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช อาจารย์พินิจ  สุวรรณบุณย์, พระเจดีย์ชัยมงคล อาจารย์มานะ  บัวขาว, พระธาตุพนม อาจารย์ประสงค์  ปัทมานุช, พระศรีรัตนธาตุ เมืองชะเลียง อาจารย์ประดิษฐ์  ยุวพุกกะ และอาจารย์เลื่อน  พุกพงษ์, พระมหาธาตุเมืองศรีสัชชนาลัย วัดช้างล้อม พระภิกษุสนิโท (อาจารย์สนิท  ดิษฐพันธุ์), พระธาตุหริภุญชัย นครลำพูน อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์, พระมหาธาตุเมืองละโว้ ลพบุรี คณะนวกภิกษุที่อุปสมบทในพรรษานั้นร่วมกันเขียน โดยพระภิกษุสนิโทผู้ซึ่งบวชในวัดนั้นเป็นผู้ควบคุมการเขียน พระเทวาภินิมมิต เป็นผู้ออกแบบในครั้งแรก โดยออกแบบให้แต่ละคูหาประดับด้วยต้นไม้สำคัญในพุทธประวัติไม่ซ้ำกัน แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นภาพบัวแปดดอกแทน

            อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เขียนภาพพระธาตุหริภุญชัยด้วยความประณีต เมื่อไม่ชอบใจก็ล้างทิ้งจนทางวัดสงสัย ถามว่า สวยงามดีแล้วลบทิ้งทำไม ท่านก็ตอบว่าไม่ชอบ เลยถูกหาว่าบ้า สมเด็จพระวันรัต (ปลด  กิตติโสภณ) เจ้าอาวาส ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านไม่พอใจฟ้องมาทางกรมศิลปากรว่าช่างผู้นี้พูดจาไม่เรียบร้อย โต้เถียงไม่ยอมลดละ ทางกรมฯ ได้กราบเรียนท่านไปว่าอย่าได้ถือสาเลย ช่างโดยมากเป็นเช่นนี้เป็นคนนับถือความคิดของตนและมักพูดจาเปิดเผยตรงไปตรงมา๔๐

            ในช่วงเวลานี้เอง ท่านก็เริ่มออกสำรวจจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่างๆ และทำการคัดลอกภาพที่สำคัญเอาไว้เป็นหลักฐานก่อนที่ภาพในสถานที่จริงจะเสียหายไป โดยเริ่มต้นที่วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดสุวรรณาราม (บางกอกน้อย กรุงเทพฯ)

ชีวิตราชการและการศึกษาที่ประเทศอิตาลี

            ท่านเริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งครูช่างเขียน คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๐ ดังมีบันทึกต่อไปนี้

            “…ด้วยในคราวที่อาจารย์ศิลป  พีระศรี ขอลาไปเยี่ยมบ้านที่ยุโรป คราวนี้ อาจารย์ศิลป ใคร่จะได้นายเฟื้อ  ทองอยู่ เป็นผู้ดูแลนักศึกษามหาวิทยาลัย คณะปฏิมากรรมแทนตัว และให้ทำงานคัดลอกภาพโบราณตามผนังโบสถ์ที่สำคัญไปด้วย จึงขออนุมัติบรรจุนายเฟื้อ  ทองอยู่ เป็นครูช่างเขียนในมหาวิทยาลัย รับเงินเดือน ๘๐ บาท และเงินเพิ่มตามระเบียบเงิน พ.ช. ของกระทรวงการคลัง

            ในศกนี้ งบประมาณทางมหาวิทยาลัยมีพอที่จะบรรจุในอัตรานี้ได้ จึงเสนอขออนุมัติบรรจุตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ เป็นต้นไป…”๔๑

            ท่านทำหน้าที่ดูแลนักศึกษา รับหน้าที่การสอนวิชาจิตรกรรม และศึกษาค้นคว้าวิจัยศิลปะไทย ต่อมาเมื่อ พ.ท.หลวงรณสิทธิพิชัย (พ.ศ.๒๔๔๒-๒๕๑๕) อธิบดีกรมศิลปากร  (พ.ศ.๒๔๙๓-๒๔๙๘) ได้ทราบความคิดในการจำลองภาพจิตรกรรมฝาผนังจากสถานที่จริงของอาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ก็เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งให้ดำเนินการโดยกรมศิลปากรเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้เท่าที่มีเงินในงบประมาณของกรม๔๒ ท่านจึงมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง

            เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๗ อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ราชบัณฑิตยสถานที่กรุงโรม๔๓ (Academia de Eella Arti di Roma) โดยทุนของรัฐบาลอิตาลี เป็นเวลา ๒ ปี

            ด้วยเหตุที่ท่านมีนิสัยรักในอิสรภาพ ท่านไม่ชอบอยู่ในกรอบของสถานศึกษานัก การเดินทางไปศึกษาต่อในครั้งนั้น จึงไม่มีประกาศนียบัตรทางศิลปะติดตัวไปเลย มีแต่เพียงใบรับรองของศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี เท่านั้น ที่กล่าวแนะนำและยกย่องชมเชยท่านเอาไว้ อันมีค่าเหนือประกาศนียบัตรทางศิลปะอื่นใดทั้งสิ้น ดังข้อความในจดหมายฉบับนั้น

ช่วงเวลานี้เองที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันยิ่งใหญ่ของท่านในการสร้างสรรค์ศิลปะ ท่านถ่ายทอดความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็นออกมาเป็นภาพที่งดงามจับใจ ดังที่ศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี ได้บันทึกไว้ว่า “…นี้เองเป็นเวลาที่ได้แสดงให้เห็นถึงสมรรถภาพอันยิ่งใหญ่ของเฟื้อในการทำงานศิลปะ ภาพเขียนสีและภาพวาดด้วยเส้นจำนวนมากกว่าร้อยชิ้น สร้างขึ้นด้วยฝีมือของศิลปินของเรา งานของเขาเรียกร้องความสนใจจากซินญอร์ออกโปศาสตราจารย์ฝ่ายจิตรกรรมแห่งสถานศึกษาศิลปะของโรม ศาสตราจารย์ผู้นี้ได้เห็นคุณภาพอันสูงส่งแห่งความเป็นศิลปินไทยโดยแท้จริงอันมีอยู่ในตัวเฟื้อ…”๔๔

            พ.ศ.๒๕๐๒ อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ รับตำแหน่งอาจารย์โท คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร๔๕

            พ.ศ.๒๕๐๓ อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เข้าร่วมประชุมองค์การศิลปินระหว่างชาติ๔๖ (International Association of Art) ครั้งที่ ๓ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยความอุปถัมภ์จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) การประชุมแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ประเภทที่หนึ่ง เป็นการประชุมของศิลปินกลุ่มประเทศฝ่ายตะวันออกหกคน และกลุ่มประเทศฝ่ายตะวันตกหกคน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๓-๒๘ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๐๓ เพื่ออภิปรายปัญหาเกี่ยวกับอิทธิพลการแลกเปลี่ยนการแสดงออกทางศิลปะ รวมทั้งศึกษาถึงเทคนิคและอารยธรรมสมัยใหม่ว่ามีผลกระทบกระเทือนศิลปะเพียงใด โดยมีศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี เป็นตัวแทนจากประเทศไทย ประเภทที่สองเป็นการประชุมใหญ่ขององค์การศิลปินระหว่างชาติ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๕ กันยายน ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๓ เพื่อศึกษาและอภิปรายปัญหาเกี่ยวกับศิลปะปัจจุบัน และปัญหาผลประโยชน์ของศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยมีศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี, อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ และอาจารย์สวัสดิ์  ตันติสุข เป็นตัวแทนจากประเทศไทย๔๗

            เมื่อการประชุมเสร็จสิ้น อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ได้เดินทางไปดูงานศิลปะต่อที่กรุงปารีส, กรุงลอนดอน และประเทศอินเดีย เป็นเวลาหลายเดือน หมดเงินไป ๔,๐๐๐ บาท จึงเดินทางกลับประเทศไทย

            พ.ศ.๒๕๐๕ อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ รับตำแหน่งเป็นอาจารย์หัวหน้าแผนกวิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร๔๘

            พ.ศ.๒๕๐๗ ด้วยคำสั่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ ๑๒/๒๕๐๗ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ และมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๖ และโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ชั้นโท อันดับ ๒ ขั้น ๑,๙๐๐ บาท เลขที่ ๓/๒๕๐๗ ดำรงตำแหน่งอาจารย์โทคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

            ปลายปีพ.ศ.๒๕๐๙ ท่านป่วยเป็นฝีที่ทวารหนักเข้ารับการผ่าตัด และได้ขอลาหยุดราชการเป็นเวลา ๔๕ วันนับตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๙ ถึงวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๐๔๙

            พ.ศ.๒๕๑๐ ท่านได้เลื่อนจากข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโท อันดับ ๓ ขั้น ๒,๗๕๐ บาท

ตำแหน่งอาจารย์โท คณะจิตรกรรมและประติมากรรม ขึ้นเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นเอก อันดับ ๑ ขั้น ๒,๗๕๐ บาท ตำแหน่งอาจารย์เอก คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร๕๐ และปีเดียวกันนี้เอง ท่านได้เข้าร่วมเป็นกรรมการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม (ธนบุรี)

            พ.ศ.๒๕๑๒ มีคำสั่งมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่งตั้งอาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในวิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร๕๑

            พ.ศ.๒๕๑๒-๒๕๑๔ ท่านเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการด้านวิชาการควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์ธรรมาสน์ วัดวรจรรยาวาส กรุงเทพฯ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ถูกทางวัดรื้อออก การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งนี้เป็นไปด้วยดี และถูกต้องตามหลักวิชา สามารถรักษาศิลปกรรมสำคัญของชาติเอาไว้ได้๕๒

            อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ รับราชการอยู่เป็นเวลา ๒๓ ปี จนครบเกษียณอายุและพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ขณะนั้นมีฐานะเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นเอก อันดับ ๑ ขั้น ๓,๒๐๐ บาท ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร๕๓ แต่เนื่องจากท่านยังมีสุขภาพสมบูรณ์ร่างกายแข็งแรง มีความสามารถในการปฏิบัติราชการได้เป็นอย่างดี มีความเชี่ยวชาญทางด้านจิตรกรรมและศิลปะไทย ทางคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ยังไม่มีผู้ใดที่มีความสามารถเท่าเทียม นอกจากนั้นท่านยังกำลังดำเนินการวิจัยศิลปะไทยเพื่อการศึกษาของทางคณะฯ อันเป็นโครงการที่ต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ และปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ทางคณะฯ จึงได้ทำเรื่องขอจ้างท่านเข้ารับราชการเป็นลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมและศิลปะไทยโบราณ ปฏิบัติงานในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ อัตราค่าจ้างเดือนละ ๑,๖๐๐ บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๓๕๔ จนครบอายุ ๖๕ ปีบริบูรณ์ ในปีพ.ศ.๒๕๑๘๕๕

            ท่านเข้าร่วมเป็นกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในปีพ.ศ.๒๕๑๓๕๖ และต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๑๗๕๗ มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งท่านเข้าร่วมเป็นกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ลาออกในเวลาต่อมา เนื่องจากมีความขัดแย้งในเรื่องของหลักการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์

พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๒๕ ท่านเป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัยวิธีการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง วัดช่องนนทรี โดยมีศาสตราจารย์ ม.ร.ว.ทองใหญ่  ทองใหญ่ เป็นหัวหน้าโครงการ ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น๕๘

            ปัจจุบัน ท่านรับราชการเป็นลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญศิลปะไทย ณ วิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากร มีหน้าที่สอนนักศึกษาชั้นปีที่ ๔-๕ และให้คำแนะนำอาจารย์ฝ่ายศิลปะ นอกจากนั้นท่านยังรับตำแหน่งประธานโครงการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดประดู่ในทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทุนของวิทยาลัยช่างศิลป ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

            เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าส่วนตัว มุมานะในงานที่ตั้งใจทำ เป็นผู้ที่พร้อมจะให้มากกว่าที่จะรับ และตรงไปตรงมา ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมานี้ ท่านจึงเป็นที่รักใคร่นับถือดั่งครูใหญ่ในวงการศิลปวัฒนธรรม

            ในด้านการพัฒนาทางศิลปกรรมนั้น อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เป็นผู้ที่ใฝ่ใจในศิลปะมาตั้งแต่เล็กๆ โรงเรียนเพาะช่างเป็นสถาบันแรกที่ได้วางพื้นฐานทางด้านศิลปะให้กับท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต เป็นผู้ชี้แนะให้ก้าวเข้าสู่แนวทางการเขียนภาพสมัยใหม่ในแบบอิมเพรสชันนิสม์ (IMPRESSIONISM) ขั้นต่อมาเมื่อท่านได้ศึกษาต่อ ณ โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ท่านก็ได้เรียนรู้วิชาการช่างแบบตะวันตก จากศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี อย่างเป็นระบบ ต่อมาท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ได้เห็นถึงการปฏิรูปศิลปะอินเดียโดยการผสมผสานเทคนิคของตะวันตกเข้ากับแรงบันดาลใจจากขนบธรรมเนียมประเพณีแบบอินเดีย ทำให้ท่านเกิดแรงบันดาลใจที่จะค้นหาลักษณะเฉพาะของตน อันเป็นเหตุให้ท่านออกคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนัง และทำการบูรณอนุรักษ์ศิลปกรรมในเวลาต่อมา สุดท้ายเมื่อท่านได้ไปศึกษาต่อ ณ ราชบัณฑิตยสถานที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี อันเป็นศูนย์กลางศิลปะสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ในระยะนี้เองความสามารถของท่านได้เปล่งประกายออกมาอย่างถึงที่สุด

            สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับการศึกษาในสถาบันศิลปะทั้ง ๔ แห่ง ของท่าน ก็คือ ท่านไม่เคยได้รับประกาศนียบัตรแม้แต่ใบเดียว ที่เป็นเช่นนี้มิใช่ว่าท่านไม่เอาถ่าน แต่เป็นเพราะท่านไม่ได้สนใจในสิ่งนี้เลย

            ในชีวิตการรับราชการ ตลอด ๒๓ ปี จนเกษียณอายุ ท่านได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่สั่งสอนอนุชนรุ่นหลังอย่างเต็มความสามารถ เคยทำหน้าที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมในระดับชาติ ดำเนินงานวิจัยและให้ความร่วมมือกับสถาบันอื่นๆ หรือหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงานด้านอนุรักษ์โบราณวัตถุ สถานที่สำคัญๆ ของชาติหลายครั้งหลายหน เช่น บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม บูรณธรรมาสน์ วัดวรจรรยาวาส และงานอนุรักษ์ชิ้นสำคัญ คือ ที่วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร ปฏิบัติการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังในหอพระไตรปิฎก และควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมหอพระไตรปิฎกไปด้วย

            อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖ และพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๗

เชิงอรรถ

๑. ท่านเปลี่ยนชื่อสกุลจาก “ทองอยู่” เป็น “หริพิทักษ์” เมื่อคราวกลับจากประเทศอินเดีย มีความหมายว่า “พระนารายณ์คุ้มครอง

๒. พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์  จิตรกร : ๒๔๑๔-๒๔๙๒) เป็นช่างผู้มีฝีมือในทางศิลปะแทบทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนภาพจิตรกรรม ผลงานของท่านมีปรากฏอยู่เป็นอันมากในสมัยรัชกาลที่ ๖ เช่นภาพประกอบหนังสือเรื่องลิลิตนารายณ์สิบปาง, มัทธนะพาธา อันเป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน นอกจากนี้ยังมีปรากฏอยู่ตามพระอารามต่างๆ เช่นภาพในเค้าเรื่องชาดกตามพระกระแสรับสั่งรัชกาลที่ ๖ ในพระวิหารหลวงจังหวัดนครปฐม เป็นต้น สำหรับเครื่องอิสริยาภรณ์และสิ่งของพระราชทานซึ่งเป็นเครื่องประดับต่างๆ ท่านก็ได้ออกแบบไว้มิใช่น้อย ในบทละครเรื่องต่างๆ ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงแสดง ท่านก็ยังได้เป็นผู้สร้างฉาก แต่งหน้า และออกแบบเครื่องแต่งกายอีกด้วย ในทางการถ่ายภาพก็เป็นที่ทราบกันในสมัยนั้นว่า ท่านเป็นช่างภาพฝีมือดีคนหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ไปเขียนจิตรกรรมฝาผนังประดับภายในวิหารวัดสุวรรณดาราม อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขียนด้วยเทคนิคสีน้ำมัน เขียนเป็นเรื่องพระราชพงศาวดารสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เริ่มเขียนแต่ปีพ.ศ.๒๔๗๒ แล้วเสร็จพ.ศ.๒๔๗๔ ทันงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงเทพมหานครมีอายุครบ ๑๕๐ ปี

๓. คุณยายทับทิมเล่าให้ท่านฟังว่า บิดาของท่านเขียนรูปคุณยายอยู่หลายหนแต่ไม่เหมือนสักที

๔. โรงเรียนเพาะช่าง เริ่มขึ้นเมื่อครั้งเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีก่อตั้งกองช่างแกะไม้ขึ้น เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๔๘ เพื่อทำภาพแทรกประกอบกับการพิมพ์แบบเรียนต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นการเริ่มงานศิลปหัตถกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาได้โอนกิจการกองช่างแกะไม้ไปขึ้นอยู่กับสามัคยาจารย์สมาคม เมื่อกิจการงานต่างๆ ได้เจริญขึ้นจึงเลื่อนฐานะกองช่างนี้ขึ้นเป็นสโมสร เป็นสาขาหนึ่งของสามัคยาจารย์สมาคมให้ชื่อว่า “สโมสรช่าง” และโอนมาขึ้นอยู่กับกระทรวงธรรมการให้ชื่อว่า “โรงเรียนหัตถกรรมราชบูรณะ” จัดเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูพาณิชยกรรมเกษตรกรรม และศิลปหัตถกรรม ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้มีการก่อสร้างอาคารเรียนถาวรขึ้นด้วยเงินที่ได้รับมาจากการบริจาคเพื่ออุทิศถวายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เสด็จพระราชดำเนินเปิด “โรงเรียนเพาะช่าง” เพื่อเป็นสวัสดิมงคล

๕. จงกล  กำจัดโรค, การสัมภาษณ์ส่วนบุคคล, วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕

๖. น. ณ. ปากน้ำ, “การปฏิรูปศิลปะสากลในไทย”, ความงามในศิลปไทย (กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์, ๒๕๑๐), หน้า ๔๖๔-๔๖๕.

๗. เรื่องเดียวกัน

๘. ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต เกิดเมื่อพ.ศ.๒๔๒๘ เป็นเด็กรับใช้ติดตามพระยาราชานุประพันธ์ ราชทูตไปประจำประเทศญี่ปุ่นอยู่ได้ ๕ ปี ก็เดินทางติดตามเพื่อนไปยังประเทศอังกฤษ ที่นี่ท่านได้ทำงานเป็นเด็กรับใช้อาจารย์ในสถาบันศิลปะแห่งหนึ่ง ทำหน้าที่ล้างพู่กันและถือกระป๋องสี จนมีโอกาสได้รับการศึกษาการเขียนภาพ ต่อมาท่านได้เดินทางไปยังประเทศเดนมาร์ค, ฮอลแลนด์, ฝรั่งเศส และอิตาลี โดยยึดอาชีพเขียนภาพ ด้วยความอนุเคราะห์จากท่านเจ้าคุณคทาธรบดีท่านจึงได้กลับประเทศไทย หลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนเสีย ๒๐ ปีเศษ กลับมาเมืองไทยตกงานเพราะไม่มีใครนิยมเอาภาพเขียนไปติดบ้าน ท่านจึงเปิดร้านทำบล็อกขึ้น นับเป็นร้านแรกในประเทศไทย แต่ก็ต้องปิดกิจการลงในเวลาไม่นานนัก นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้บุกเบิกการเขียนการ์ตูนล้อการเมืองในประเทศไทย ด้วยนามว่า “เปล่ง  ไตรปิ่น” ต่อมาท่านได้รับเชิญเข้าเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาจิตรกรรมที่โรงเรียนเพาะช่าง

๙. น. ณ. ปากน้ำ, “เฟื้อ  หริพิทักษ์ จิตรกรเอกของเมืองไทย,” เรื่องราวของศิลปและศิลปิน (พระนคร : โอเดียนสโตร์, ๒๕๑๐) หน้า ๑๓๑-๑๓๒

๑๐. น. ณ. ปากน้ำ, “ศิลปร่วมสมัยของเมืองไทย”, เรื่องราวของ…หน้า ๙๐

๑๑. จงกล  กำจัดโรค, การสัมภาษณ์ส่วนบุคคล, วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕

๑๒. ในคราวนั้น มีท่านเพียงคนเดียวในชั้นที่สอบได้วิชาครู

๑๓. เฟื้อ  หริพิทักษ์, การสัมภาษณ์ส่วนบุคคล, วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๕

๑๔. รงค์  วงษ์สวรรค์, “เฟื้อ  หริพิทักษ์”, บางกอกรีดเดอร์ส ๑๐, ฉบับที่ ๑๐๗ (เมษายน, ๒๕๒๔), หน้า ๑๗๕

๑๕. เฟื้อ  หริพิทักษ์, การสัมภาษณ์ส่วนบุคคล, วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๕

๑๖. น. ณ.ปากน้ำ, “เฟื้อ  หริพิทักษ์ จิตรกรเอกของเมืองไทย,” เรื่องราวของ…หน้า ๑๓๑

๑๗. อิทธิเทพสรรค์  กฤดากร, ม.จ. “คำแนะนำนักเรียนช่างศิลป”, หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหากล่าวถึงความหมายของคำ “วิจิตรศิลป์” (Fine Art), ประเภทของวิชาวิจิตรศิลป์โดยแยกออกเป็นวิชาที่สอนไม่ได้และไม่ควรจะสอน, วิชาที่สอนได้และควรจะสอน ทัศนะต่อนักศึกษาศิลปะในประเทศไทย, ศิลปะไทยเดิมที่กำลังจะสูญสิ้นไป และศิลปะอย่างใหม่ที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังได้วางโครงการเกี่ยวกับการศึกษาศิลปะเอาไว้ด้วย

๑๘. ดู “เฉลิมพระเกียรติพลเอกสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร”, (กรุงเทพฯ : ส.กรุงศิลปเพรส, ๒๕๑๔)

๑๙. ท่านเปลี่ยนชื่อมาเป็นศิลป  พีระศรี เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

๒๐. ดูที่ “ประวัติมหาวิทยาลัยศิลปากร”, ที่ระลึกงานฉลองครบ ๒๕ ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร ๑๒ ตุลาคม ๒๕๑๑, (พระนคร : บริษัท บพิธ จำกัด, ๒๕๑๑), หน้า ๑-๔

๒๑. จงกล  กำจัดโรค, การสัมภาษณ์ส่วนบุคคล, วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕

๒๒. ดูที่ พรหมพิจิตร์อนุสรณ์ (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๕๐๘)

๒๓. ดูที่ โชติ  กัลยาณมิตร, “พระเทวาภินิมมิต (ฉาย  เทียมศิลปะชัย)” ผลงาน ๖ ศตวรรษของช่างไทย” (กรุงเทพ : กรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๒๐), หน้า ๑๒๓

๒๔. สมัยรัชการที่ ๕ สังคมไทยภายใต้การนำของราชสำนักเริ่มรับขนบธรรมเนียมประเพณีของตะวันตก มีการยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานเข้าเฝ้า หันมานั่งเก้าอี้แทน มีการสอนภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการติดต่อกับชาวต่างประเทศ มีการก่อสร้างอาคารแบบตะวันตกอย่างแพร่หลายขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ภาพจิตรกรรมไทยที่สืบทอดกันมานานกลับล้าสมัย ไม่มีใครนำมาตกแต่งอาคารเหล่านี้ จึงมีการสั่งภาพเขียนจากต่างประเทศมาเพื่อใช้ประดับให้กลมกลืนกับอาคารแบบตะวันตก เมื่อต้องการภาพเหมือนของตนก็เพียงแต่ส่งภาพถ่ายไปเป็นแบบเท่านั้น การเสด็จยุโรปของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปีพ.ศ.๒๔๔๐ และพ.ศ.๒๔๕๐ ก็โปรดให้นายช่างตะวันตกเขียนภาพเหมือนหลายภาพในการเสด็จครั้งหลังมีช่างเขียนชาวไทยชื่อ นายมุ่ย  บรรดาศักดิ์ ที่หลวงสรลักษณ์ลิขิตตามเสด็จอยู่ในหมู่เจ้านายข้าราชการนอกสำรับด้วย นายมุ่ยเป็นช่างเขียนภาพเหมือนฝีมือดีผ่านการศึกษาจากโรงเรียนช่างฝีมือในพระบรมมหาราชวังสมัยรัชกาลที่ ๕ ขณะที่ศึกษาอยู่ได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ ๕ บาท การที่ได้ตามเสด็จก็เพราะ “…พ่อต้องการจะเติมมหาดเล็กไปยุโรปอีกคนหนึ่งคือ นายมุ่ย หลวงสรลักษณ์ เป็นช่างเขียนเกือบจะเป็นโปรเฟสเตอร์ได้อยู่แล้ว ถ้าให้ไปเห็นมากๆ คงจะทำได้ดี ฤาเมื่อไปตามทางเป็นลมไม่สนุก ให้มันเขียนอะไรเล่นก็สนุกดี การที่มีช่างเขียนไปเที่ยวด้วยนั้น เป็นองค์ของความสนุกอย่างฝรั่งอันหนึ่ง วาสนาบรรดาศักดิ์ก็เท่าหลวงนาย ๒ คนอยู่ในกองมหาดเล็ก …” (พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเจ้าฟ้ากรมพระนคร สวรรค์วรพินิต ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ร.ศ.๑๒๕) เมื่อพระองค์ได้ทรงประทับเป็นแบบให้มองซิเออร์ ดูรัง ช่างเขียนชาวฝรั่งเศสเขียนพระบรมรูปถวาย หลวงสรลักษณ์จึงมีโอกาสศึกษาวิธีการเขียนภาพอย่างเต็มที่จนเกิดความชำนาญ ท่านเป็นผู้ที่มีฝีมือและความชำนาญเป็นเลิศสมพระราชหฤทัยจนได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีเฉพาะเข็มศิลปวิทยาจะพระราชทานแก่นักปราชญ์ราชกวีหรือนายช่างฝีมือดี “ที่ได้คิดก็ดี ทำเองก็ดี ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งทำได้เสมอดีเท่าแล้ว” เวลาท่านร่างรูปก็ไม่ต้องตีตารางเพราะมีสายตาที่แม่นยำมาก รูปที่เขียนจะไม่ยอมให้เป็นรอยฝีแปรงด่างหรือแม้แต่น้ำมันทิ้งเป็นคราบก็ไม่ได้ (สนิท  ดิษฐ์พันธ์) ผลงานชิ้นสำคัญของท่านก็คือ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๒, พระบรมรูปสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี และพระรูปสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเขียนอย่างแม่นยำและมีชีวิตชีวา

๒๕. ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์  กฤดากร เกิดและเติบโตที่ปารีส เมื่อพระบิดาเสียชีวิตจึงเดินทางมายังประเทศไทย โดยเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี, โรงเรียนเพาะช่าง และโรงเรียนประณีตศิลปกรรม จนเกิดรักใคร่ชอบพอกับอาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เมื่อความทราบไปถึงผู้ใหญ่ท่านไม่เห็นด้วย จึงกีดกันโดยกักขัง ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ ไว้ในวังชั้นบนและมียามคอยเฝ้าอยู่รอบบ้าน ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ จึงใช้ผ้าปูที่นอนฉีกผูกต่อกันหย่อนลงมาทางหน้าต่างจนพลัดตกลงมาข้อเท้าแตก

๒๖. ศิลป  พีระศรี, “เฟื้อ  หริพิทักษ์,” เฟื้อ  หริพิทักษ์ (กรุงเทพ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, ๒๕๐๒) ไม่ปรากฏเลขหน้า

๒๗. เฟื้อ  หริพิทักษ์, การสัมภาษณ์ส่วนบุคคล, วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๕

๒๘. ศิลป พีระศรี, “เฟื้อ  หริพิทักษ์”, เฟื้อ  หริพิทักษ์…,ไม่ปรากฏเลขหน้า

๒๙. เฟื้อ  หริพิทักษ์, การสัมภาษณ์ส่วนบุคคล, ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕

๓๐. Silpa  Bhirasri, “Contemporary Thai Art”, Modern Art of Asia : New Movements and Old Traditions, (Tokyo : Toto Shuppan Co., 1961) pp.79

๓๑. ปีพ.ศ.๒๔๔๔ รพินทรนาถ  ฐากุร ตั้ง “ศานตินิเกตัน วิทยาลัย” ขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ได้ขยายกิจการเป็นมหาวิทยาลัยให้ชื่อว่า “วิศวภารติ” ในปีพ.ศ. ๒๔๙๐ หลังจากประเทศอินเดียได้รับเอกราช รัฐบาลอินเดียได้ยื่นมือเข้าอุปถัมภ์กิจการของมหาวิทยาลัย และรับรองวิทยฐานะขึ้นเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอินเดีย

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะทำหน้าที่รวบรวมไว้ซึ่งทรัพยากรทางจิตใจที่มีไว้เพื่อทุกคน โดยตระหนักถึงพันธกรณีที่อินเดียควรเสนอวัฒนธรรมที่ดีที่สุดของตนแก่ผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงสิทธิของอินเดียเองในอันที่จะได้รับไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ดีที่สุดจากผู้อื่นด้วย ปรัชญาการศึกษาของวิศวภารติคล้ายคลึงกับการ

ศึกษาแบบคุรุกุลในอินเดียสมัยโบราณ ดังเช่น อาศรมสำนักตักศิลา ซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์เป็นไปในลักษณะพ่อกับลูก นอกจากหลักสูตรการสอนแบบธรรมดาแล้ว ยังมีแผนกสังคีตศิลป์และนาฏศิลป์, แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม, แผนกวัฒนธรรมอิสลาม, แผนกลัทธิโซโรอัสเตอร์ (Zoroaster ลัทธิบูชาไฟของชาวเปอร์เซีย), แผนกทิเบต, แผนกจีน ฯลฯ บุคคลสำคัญซึ่งควรยกนามมากล่าวในที่นี้คือ รพินทรนาถ  ฐากุร (Rabindranath Tagore) คคเนนทรนาถ  ฐากุร (Gogonendranath  Tagore) และอพนินทรนาถ  ฐากุร (Abansndranath  Tagore) ทั้ง 3 คำ สะกดโดยยึดหลักอักขรวิธีเป็นใหญ่ โดยออกเสียงตามสำเนียงภาษาเดิม รพินทรนาถ  ฐากุร มาจาก รพี+อินฺทฺรฺ+นาถ, คคเนนทรนาถ มาจาก คคน+อินฺทฺรฺ+นาถ, อพนินทรนาถ มาจาก อพน+อินฺทฺรฺ+นาถ ส่วน ฐากุร เป็นคำภาษาเบงกอลและสันสกฤต ฝรั่งมักออกเสียงไม่ได้ จึงออกเสียงเป็นตะโก (Tagore) ท่านทั้งสามมีบทบาทสำคัญยิ่งในการฟื้นฟูจิตรกรรมอินเดียที่เริ่มเสื่อมลงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๔ ด้วยการเลียนแบบผลงานของชาวอังกฤษ และวิลันดาบางคนให้รุ่งเรืองขึ้นใหม่ โดยการผสานเทคนิคการเขียนภาพแบบตะวันตกเข้ากับแรงบันดาลใจจากขนบธรรมเนียมประเพณีของอินเดียเอง ความเคลื่อนไหวนี้มีชาวยุโรปบางท่านให้ความสนับสนุน เป็นต้นว่า อี.บี.ฮาเวลล์ (E.B. Havell) ผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐบาลเมืองกัลกัตตา, เซอร์จอห์น  วูดรอฟ (Sir John Woodrof)

๓๒. ตึกจีนภวน (จีน-ประเทศจีน, ภวน = ตึก, คณะ, สถาบัน) หรือเรียกได้อีกอย่างว่า “สถาบันจีนศึกษา” เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยวิศวภารติ การสร้างตึกหลังนี้ ได้รับความอุปถัมภ์จากรัฐบาลเจียงไคเช็ค

๓๓. คำนี้ควรจะออกเสียงตามภาษาเบงกอลว่า “พสุ” แต่ชาวอังกฤษออกเสียงเพี้ยนไปเป็น “โพส” ในที่นี้ใช้การออกเสียงตามอังกฤษ เพราะถ้าออกเสียงเดิมแล้วจะเพี้ยนไปมากจนอาจเกิดความเข้าใจว่าเป็นคนละคนกัน ในบางทีสะกด “โพส” เป็น “โบส” ซึ่งไม่ค่อยถูกต้องนัก ทั้งนี้เพราะ “บ” ในอินเดียจะตรงกับ “พ” ในภาษาไทย

๓๔. เฟื้อ  หริพิทักษ์, การสัมภาษณ์ส่วนบุคคล, วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๕

๓๕. น. ณ ปากน้ำ, “เฟื้อ  หริพิทักษ์ จิตรกรเอกของเมืองไทย”, เรื่องราวของ…, หน้า ๑๓๖

๓๖. เรื่องเดียวกัน

๓๗. อัธยาตมวิทยา, อธิ = มาก, ยิ่งใหญ่, อาตม = จิตใจ, เกี่ยวกับอาตมัน, วิทยา = ความรู้

๓๘. อาจารย์เฟื้อ  หริพิทักษ์ เลื่อมใสในคำสอนของท่านสวามี ศิวานันทะมาก ในคราวเสร็จสิ้นการประชุมองค์การศิลปินระหว่างชาติ ครั้งที่ ๓ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในปีพ.ศ.๒๕๐๓ ท่านยังได้แวะไปนมัสการท่านสวามีศิวานันทะที่ประเทศอินเดีย

๓๙. ช่องคูหานี้เป็นพระราชประสงค์เดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ไว้ว่าจะให้เขียนภาพ แต่ยังไม่ได้ทรงกำหนดแน่ว่าเป็นภาพอะไร เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จกลับจากปีนัง เมื่อพ.ศ.๒๔๘๕ พระพรหมมุนีถวายพระพรให้ทรงพระดำริ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น กำหนดให้เขียนภาพจอมเจดีย์ คือ พระเจดีย์ที่สำคัญในประเทศไทย ๘ แห่ง โดยว่าจ้างกรมศิลปากรให้ออกแบบและเขียนเป็นราคาช่องละ ๒,๕๐๐ บาท และได้ขอถวายพระพรถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงพระราชศรัทธา ทรงรับเป็นเจ้าของช่องภาพพระปฐมเจดีย์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชศรัทธาทรงรับเป็นเจ้าของช่องภาพพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช และได้บอกบุญพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ และท่านผู้มีศรัทธาทั้งหลาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงรับเป็นเจ้าของช่องภาพพระเจดีย์ชัยมงคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงศ์บริพิตร และหม่อมพันธุ์ทิพย์บริพัตรทรงรับเป็นเจ้าของช่องภาพพระธาตุพนม พระเจ้า

วรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาและหม่อมกอบแก้ว  อาภากร ทรงรับเป็นเจ้าของช่องภาพพระศรีรัตน

มหาธาตุ เมืองชะเลียง เมืองสวรรคโลกเก่า เจ้าจอมมารดาเลื่อนในรัชกาลที่ ๕ รับเป็นเจ้าของช่องภาพพระมหาธาตุเมืองศรีสัชชนาลัย วัดช้างล้อม เมืองสวรรคโลกเก่า เจ้าจอมมารดาสมบูรณ์ในรัชกาลที่ ๕ รับเป็นเจ้าของช่องภาพพระธาตุหริภุญชัย และคณะนวกภิกษุ พ.ศ.๒๔๘๙ รวม ๑๗ รูป รับเป็นเจ้าของช่องภาพพระมหาธาตุเมืองละโว้ ลพบุรี

            ประวัติวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (พระนคร : โรงพิมพ์การพิมพ์พาณิชย์, ๒๔๙๒), หน้า ๑๐๗-๑๐๘

๔๐. พินิจ  สุวรรณบุณย์, การสัมภาษณ์ส่วนบุคคล, วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕

๔๑. บันทึกของนายกฤษณ์  อินทโกศัย เสนอต่อผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร ลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๐

๔๒. Silpa  Bhirasri, “Thai Painting”, Exhibition of Thai Painting. (Bangkok : Runnakorn,1952) pp.3-4

๔๓. คำแปลเป็นไทยนี้ใช้ตามศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี ซึ่งปรากฏอยู่ในบันทึกที่ท่านเสนอต่อผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร ลงวันที่ ๑๒ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙

๔๔. ศิลป  พีระศรี, “เฟื้อ  หริพิทักษ์”, เฟื้อ  หริพิทักษ์…, ไม่ปรากฏเลขหน้า

๔๕. มหาวิทยาลัยศิลปากร, สมุดประวัติประจำตัวข้าราชการของนายเฟื้อ  หริพิทักษ์

๔๖. คำภาษาไทยนี้ใช้ตามบทความ ”บันทึกการประชุมใหญ่ องค์การศิลปินระหว่างชาติ ครั้งที่ ๓ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย พ.ศ.๒๕๐๓” ของศาสตรจารย์ศิลป  พีระศรี แปลโดย เขียน  ยิ้มศิริ ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสมาคมแห่งนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๙๗ โดยมติของคณะรัฐมนตรี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความอุปถัมภ์

๔๗. ศิลป  พีระศรี, “บันทึกการประชุมใหญ่ขององค์การศิลปินระหว่างชาติ ครั้งที่ ๓ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย พ.ศ.๒๕๐๓”, วารสารศิลปากร. ๔, เล่มที่ ๖ (๒๕๐๔), ๒๖-๓๖

๔๘. คำชี้แจงและผลงานที่จะขอแต่งตั้งนายเฟื้อ  หริพิทักษ์ ให้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร

๔๙. บันทึกเรื่องขอลาป่วยของนายเฟื้อ  หริพิทักษ์ เสนอต่อคณบดี คณะจิตรกรรมและประติมากรรม ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๙

๕๐. คำสั่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ ๔๔/๒๕๑๐ เรื่องเลื่อนขั้นและแต่งตั้งข้าราชการ

๕๑. คำสั่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ ๑๒๒/๒๕๑๒ เรื่องแต่งตั้งข้าราชการ

๕๒. ลุ่ม  เจริญศรัทธา ได้ไปพบและนำมาเขียนลงในวารสารสังคมศาสตร์ ปริทัศน์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๐๖ รายละเอียดของการซ่อมดูได้จาก “อนาคต” ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ มกราคม – กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๕ หน้า ๘-๑๓

๕๓. คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๐๙/๒๕๑๓ เรื่องให้ข้าราชการออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุสูงอายุและเอกสารรับรองประวัติการรับราชการของนายเฟื้อ  หริพิทักษ์

๕๔. บันทึกที่ สร.๒๔๐๑/๑๙๒๑ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องขออนุมัติจ้างนายเฟื้อ  หริพิทักษ์ เป็นลูกจ้างชั่วคราว, คำสั่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ ๑๔๒/๒๕๑๓ เรื่องจ้างลูกจ้างชั่วคราว และบันทึกที่ สร.๐๓๐๙/๘๐๐ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๓ ถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ขอโอนงบประมาณรายจ่ายระหว่างหมวด

๕๕. คำสั่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ ๒๘๓/๒๕๑๖, ๓๕๐/๒๕๑๗ เรื่องลูกจ้างชั่วคราว

๕๖. ม.ร.ว.แสงสูรย์  ลดาวัลย์, “การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงคตวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรัชกาลปัจจุบัน”, ปาฐกถาเรื่องสงวนรักษาของโบราณ, จดหมายเหตุเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งรัชกาลที่ ๓ และการซ่อมภาพผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ.๒๔๒๕ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายเล็ก  ณ สงขลา ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๖, หน้า ๘๘-๑๐๕

๕๗. คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๓/๒๕๑๗ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๕๘. สน  สีมาตรัง, การสัมภาษณ์ส่วนบุคคล, วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๕

#พิภพบุษราคัมวดี  #PipopBoosarakumwadi #เฟื้อหริพิทักษ์ #เฟื้อหริพิทักษ์ชีวิตและงาน #FuaHariphitak #FuaHariphitaklife&warks